top of page

หลักปฏิบัติ 5 ประการ 

 

ความศรัทธาทั้ง 6 ประการที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เป็นหลักการสำคัญพื้นฐานของอิสลาม ที่มุสลิมจะต้องมีอยู่ประจำใจ แต่ความศรัทธาเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอ เพราะในอิสลาม ความศรัทธาที่แท้จริง จะต้องแสดงผลของมัน ออกมาให้เห็น เป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้แน่ใจว่า คนที่มีความศรัทธา ในหลักการ 6 ประการดังกล่าว ยังคงยืนยันในความศรัทธานั้น อย่างมั่นคง อัลลอฮ. ก็ได้ทรงวางภารกิจสำคัญ ให้เขาต้องปฏิบัติ 5 ประการ หรือที่เรียกกันว่า หลักการอิสลาม 5 ประการ นั่นคือ

 

  1. การกล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ. มุฮัมมัด รอซูลุลลอฮ.” (ซึ่งแปลว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ.และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ. “)

       คำปฏิญาณ นี้ เป็นถ้อยคำที่ผู้ยอมรับอิสลามทุกคน จะต้องกล่าวออกมา เป็นการยืนยันด้วยวาจาว่า ตัวเองมีความศรัทธาดังที่กล่าว         มาข้างต้น และพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อัลลอฮ.ได้ทรงกำหนดไว้ ในคัมภีร์กุรอาน และคำสอนของท่าน           ศาสดามุฮัมมัด

       ถึงแม้คำปฏิญาณดังกล่าว จะเป็นคำพูดเพียงประโยคสั้น ๆ แต่ถ้อยคำนี้แหละ ที่ทำให้สังคมอาหรับป่าเถื่อน ในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด ต้องเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้อิสลาม ได้กลายเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญ แห่งหนึ่งของโลก คำปฏิญาณดังกล่าวนี้ หมายความว่ามุสลิม จะไม่ยอมเคารพกราบไหว้ หรือสักการะบูชาพระเจ้าอื่นใด ไม่ว่าพระเจ้านั้น จะเป็นวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้นมา หรือคนที่อุปโลกน์ตัวเอง หรือถูกอุปโลกน์ เป็นพระเจ้า หรือแม้แต่สิ่งใด หรือใครก็ตาม ที่อ้างว่าตัวเอง มีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนอัลลอฮ. แล้วเรียกร้องต้องการให้คนอื่น สักการะบูชาตนเอง ดังนั้น อิสลามจึงห้ามมุสลิม แสดงกิริยากราบแบมือ และหัวจรดพื้น แก่วัตถุ หรือบุคคลใดๆ แม้แต่พ่อแม่ของตัวเอง เพราะกิริยาการกราบอันถือว่า เป็นกิริยาที่แสดงถึงความสูงสุด ในการเคารพสักการะนั้น จะถูกสงวนไว้ใช้กับ “อัลลอฮ.” ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่นั่นมิได้หมายความว่า อิสลามห้ามมิให้เคารพเชื่อฟัง และทำความดีต่อพ่อแม่

       การที่อิสลามห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุ และบุคคลเช่นนั้น ก็เพราะอิสลามถือว่า มนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุด และมนุษย์ทุกคน      มีฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ อย่างเท่าเทียมกัน ในสายตาของอัลลอฮ. เมื่อมนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้าง ที่ประเสริฐที่สุดแล้ว หากมนุษย์ยังไปสักการะบูชา หรือกราบไหว้วัตถุธรรมชาติ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ทำขึ้นมา หรือสักการะบูชามนุษย์ด้วยกันเอง นั่นก็หมายความว่า มนุษย์กำลังลดฐานะ แห่งความเป็นมนุษย์ ในสายตาของพระองค์ลง

เมื่ออิสลามห้ามสักการะ หรือกราบไหว้พระเจ้าอื่นใดแล้ว อิสลามก็สั่งให้มุสลิมเคารพภักดีอัลลอฮ. แต่เพียงพระองค์เดียว ทั้งนี้ เพราะพระองค์เท่านั้น ที่ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง ในสากลจักรวาล รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย และพระองค์ไม่มีผู้ใด มาเป็นภาคีร่วมกับพระองค์

       คำปฏิญาณตอนที่สอง ที่กล่าวว่า “มุฮัมมัดเป็นรอซูลของอัลลอฮ.” นั้น หมายความว่า เมื่อใครยอมรับอัลลอฮ.ว่าเป็นพระเจ้าของเขาแล้วเขา จะต้องยอมรับว่า มุฮัมมัดเป็นรอซูล หรือผู้นำสารของอัลลอฮ. (กุรอาน-) มาประกาศยังมนุษยชาติ และจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอน ของศาสดามุฮัมมัดด้วย

       เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด ประกาศคำปฏิญาณนี้ออกมา ความหมายของคำปฏิญาณนี้ ได้ทำให้บรรดาพวกผู้นำชาวมักก๊ะฮ.เริ่มหวั่นวิตกทันที เพราะคนเหล่านี้ รู้ดีว่าท่านศาสดามุฮัมมัด กำลังประกาศให้คนรู้ว่า อัลลอฮ.ต่างหาก ที่เป็นใหญ่ และเป็นผู้ทรงอำนาจ มิใช่พวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮ. และถ้าใครยอมรับคำปฏิญาณนี้ ก็หมายความว่าบุคคลนั้น จะต้องยอมรับ ความเป็นผู้นำของศาสดามุฮัมมัด นอกจากนั้นแล้ว มันยังหมายความว่า ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วิถีการดำรงชีวิตแบบเก่า ที่พวกเขาเคยปฏิบัติสืบทอดกันมา จากบรรพบุรุษ จะต้องถูกทำลายลงด้วย นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมพวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮ. ถึงได้ต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด ตั้งแต่ท่านเริ่มประกาศอิสลาม

  

 

  2. การนมาซ หรือละหมาด (หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า “เศาะลาฮ.”)

       การนมาซ คือการแสดงความเคารพสักการะ และการแสดงความขอบคุณ ต่ออัลลอฮ.ซึ่งจะกระทำ วันละ 5 เวลา คือ ตอนรุ่งอรุณ ตอนบ่าย ตอนตะวันคล้อย ตอนดวงอาทิตย์ตกดิน และในยามค่ำคืน โดยในการนมาซทุกครั้ง มุสลิมทุกคนจะหันหน้าไปทางก๊ะอบ๊ะฮ. ซึ่งอยู่ในนครมักก๊ะฮ. และหน้าที่ในการนมาซนี้ เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ตั้งแต่เริ่มมีความรู้สึกทางเพศ (สำหรับผู้ชาย) และเริ่มมีประจำเดือน (สำหรับผู้หญิง) ซึ่งเป็นวัยที่อิสลามถือว่า เริ่มเข้าสู่วัยแห่งความเป็นผู้ใหญ่แล้ว

       การนมาซเป็นสิ่งยืนยันความศรัทธา ที่ปรากฎให้เห็นทางภายนอก ได้ชัดเจนที่สุด เพราะเป็นการปฏิบัติที่มีรูปแบบ และคนที่จะดำรงรักษาการนมาซของตัวเอง ได้ครบ 5 เวลาต่อวันนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความผูกพัน ต่ออัลลอฮ.และรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ อยู่ตลอดเวลา

อันที่จริงแล้ว การปฏิบัติศาสนกิจ ที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมปฏิบัติ มิได้เป็นพิธีกรรมอันลึกลับ ที่ยากต่อการปฏิบัติ หากแต่เป็นภารกิจที่ปฏิบัติ อย่างเปิดเผย สะดวก และง่ายต่อผู้ปฏิบัติ การนมาซ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพภักดี และเป็นการแสดงความขอบคุณ ต่ออัลลอฮ.แล้ว คัมภีร์กุรอาน ยังได้กล่าวอย่างไว้ชัดเจนอีกว่า “แท้จริงการนมาซ จะยับยั้งจากความชั่วช้า และความลามก” ทั้งนี้ เนื่องจากคนที่นมาซนั้น จะเป็นคนที่รำลึกถึงอัลลอฮ. และจะเชื่อว่าอัลลอฮ. จะทรงเห็นการกระทำของเขา ทั้งในที่ลับ และในที่เปิดเผย ดังนั้น ความเกรงกลัวอันนี้ จะช่วยยับยั้งเขามิให้ปฏิบัติความชั่ว

 

 

  3. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

       การถือศีลอดในอิสลาม คือ การงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพสิ่งต่าง ๆ การมีความสัมพันธ์ทางเพศ ฉันสามีภรรยา ตลอดจนการอดกลั้นอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งหลาย และการนินทาว่าร้ายผู้อื่น ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนถึงดวงอาทิตย์ตก

       การถือศีลอด เป็นหลักปฏิบัติอีกประการหนึ่ง ซึ่งอิสลามกำหนดให้มุสลิมทุกคน ที่ศรัทธาในอัลลอฮ. และมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งชาย หญิง มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ เป็นเวลา 29 – 30 วัน ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าตามปฏิทินอิสลาม

       การถือศีลอด มิได้เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยของศาสดามุฮัมมัด แต่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยของท่านเสียอีก แม้แต่ศาสดามูซา (โมเสส) และศาสดาอีซา (เยซู) ก็เคยถือศีลอดด้วยเช่นกัน คัมภีร์กุรอาน ได้กล่าวยืนยันถึงเรื่องนี้ พร้อมกับบอกวัตถุประสงค์ของการถือศีลอด ให้เราทราบว่า :-“บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอด ได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า เช่นเดียวกับที่เคยถูกกำหนด แก่บรรดาก่อนหน้าสูเจ้า ทั้งนี้ เพื่อที่สูเจ้าจะได้ยำเกรงพระเจ้า” ที่การถือศีลอดมีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกมุสลิมให้เกิดความยำเกรงพระเจ้า ก็เพราะในเวลาปกติ อัลลอฮ.ทรงอนุมัติให้มุสลิมกิน และดื่ม ได้อย่างเสรี แต่เมื่อถึงเดือนรอมฎอน เมื่ออัลลอฮ.ทรงมีบัญชาให้ละเว้นจากการกินดื่ม มุสลิมก็ละเว้นทันที นี่เป็นบทเรียนที่สอนมุสลิม ให้ยำเกรงเละเชื่อฟังอัลลอฮ.

       การถือศีลอด ยังเป็นการฝึกให้ผู้ถือศีลอด ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และพระเจ้า กล่าวคือ ขณะที่ถือศีลอด เขาอาจจะแอบกินอาหาร และดื่มน้ำ ในระหว่างการถือศีลอด ก็ได้ โดยที่ไม่มีใครรู้ แต่ด้วยความเชื่อในพระเจ้าว่า พระองค์ทรงเห็น และทรงรู้การกระทำของเขา ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ดังนั้น เขาก็จะไม่ทำ ในสิ่งที่ขัดต่อความสำนึกของตัวเอง นอกจากนั้นแล้ว การถือศีลอด ยังเป็นการแสดงออกถึงความเสมอภาคกัน ในบรรดาผู้ศรัทธาด้วย เพราะในเดือนถือศีลอด มุสลิมผู้ศรัทธา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ต่างต้องงดจากการกินดื่ม เหมือนกันหมด

ความจริงแล้ว ในระหว่างการถือศีลอดนั้น การอดอาหารและน้ำ เป็นเพียงมาตรการ ที่จะช่วยย้ำเตือนจิตสำนึก ของผู้ถือศีลอด ให้ระลึกถึงพระเจ้า และลดความต้องการ ทางอารมณ์ให้ต่ำลง ดังนั้น ถ้าผู้ใดถือศีลอดแล้ว ยังคล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ ทำความชั่วอยู่ สิ่งที่เขาผู้นั้น จะได้รับจากการถือศีลอด ก็คือความหิวกระหายธรรมดา ตลอดทั้งวัน ซึ่งไม่มีผลต่อการฝึกฝน หรือการขัดเกลาทางด้านจิตวิญญาณของเขา แต่ประการใด

       สำหรับคนชรา ที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่า การถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย กรรมกรที่ทำงานหนัก ในเหมืองแร่ หญิงมีครรภ์แก ่ก็ได้รับการยกเว้นเช่นกัน และมิต้องชดใช้ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับการยกเว้น จะต้องบริจาคอาหาร ที่ตัวเองกินเป็นประจำหนึ่งมื้อ ให้แก่ผู้ยากจน เป็นการทดแทน ในแต่ละวัน ที่มิได้ถือศีลอด ในระหว่างการถือศีลอด มุสลิมสามารถกลืนน้ำลายได้ ถ้าหากว่าน้ำลายนั้นสะอาด และไม่มีเศษอาหารติดอยู่

 

  4. การจ่ายซะกาต

       การจ่ายซะกาต คือ การจ่ายทรัพย์สิน ในอัตราที่ศาสนากำหนดไว้ จำนวนหนึ่งจากทรัพย์สิน ที่สะสมไว้ เมื่อครบกำหนดเวลา โดยจะต้องจ่ายทรัพย์สินนี้ ให้แก่คนที่มีสิทธิ์ได้รับ 8 จำพวก ตามที่คัมภีร์กุรอาน ได้กำหนดไว้ อันได้แก่ 1) คนยากจน 2) คนที่อัตคัดขัดสน 3) คนที่มีหัวใจ โน้มมาสู่อิสลาม 4) ผู้บริหารการจัดเก็บ และจ่ายซะกาต 5) ไถ่ทาส 6) ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว 7) คนพลัดถิ่นหลงทาง 8) ใช้ในหนทางของอัลลอฮ.

ความจริงแล้วคำว่า ”ซะกาต” โดยทางภาษาแปลว่า “การซักฟอก การทำให้สะอาดบริสุทธิ์ และการเจริญเติบโต” และคำว่า “ซะกาต” นี้ ได้ถูกกล่าวควบคู่กับการนมาซ ในคัมภีร์กุลอานไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ด้วยเหตุนี้ มุสลิมที่ปฏิบัตินมาซ แต่ไม่ยอมจ่ายซะกาตนั้น ความเป็นมุสลิมของเขา จึงยังไม่สมบูรณ์

       วัตถุประสงค์ที่อิสลาม กำหนดให้มุสลิม จ่ายซะกาต ก็คือเพื่อเป็นการยืนยัน ถึงความศรัทธา นอกจากนั้นแล้ว การจ่ายซะกาต ก็ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อซักฟอกทรัพย์สิน และจิตใจของผู้จ่าย ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ขณะเดียวกัน ก็เพื่อเป็นการสร้างความเจริญ ให้แก่สังคมอีกด้วย

       ที่กล่าวว่า ซะกาตมีวัตถุประสงค์ เพื่อซักฟอกทรัพย์สิน และจิตใจของผู้จ่ายซะกาต ก็เพราะอิสลามถือว่า ทรัพย์สินที่มุสลิม หามาได้นั้น ถึงแม้ว่าจะหามาด้วยความสุจริตก็ตาม ถ้าหากทรัพย์สิน ที่สะสมไว้นั้น ยังไม่ได้นำมาจ่ายซะกาต ทรัพย์สินนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะซะกาตเป็นสิทธิ์ของคน 8 ประเภท ดังกล่าว การไม่จ่ายซะกาต ก็คือการยักยอกทรัพย์สิน ของคนเหล่านั้น ขณะเดียวกัน การจ่ายซะกาต ก็จะช่วยชำระจิตใจของผู้จ่าย ให้หมดจด จากความตระหนี่ถี่เหนียว และความโลภ ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งสกปรกทางใจ อย่างหนึ่ง

หากเรามองหลักการจ่ายซะกาต จากแง่สังคม เราจะเห็นว่า บรรดาผู้มีสิทธิได้รับซะกาตนั้น มักจะเป็นผู้ที่เป็นปัญหาในสังคม ดังนั้น การนำซะกาต ไปให้แก่คนเหล่านี้ จึงเป็นการแก้ปัญหาสังคม ที่ถูกจุด ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองจากทางด้านเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่าซะกาต จะทำให้คนยากจน คนอานาถา ในสังคม มีอำนาจซึ้อเพิ่มขึ้น เพราะมีการถ่ายเททรัพย์สิน จากคนรวย ไปสู่คนจน และเมื่อคนเหล่านี้ มีอำนาจซื้อ ก็จะส่งผลให้มีการผลิต สนองตอบความต้องการ ทำให้มีการจ้างงาน และมีการกระจายรายได้ ทางเศรษฐกิจ ติดตามมา

ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่า การจ่ายซะกาต นอกจากจะเป็นการแสดงออก ถึงความศรัทธาแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพภักดี ต่ออัลลอฮ. โดยผ่านทางการช่วยเหลือสังคมด้วย

   ซะกาตมี 2 ประเภท คือ

       ซะกาตฟิตเราะฮ. คือ ซะกาตที่มุสลิม ที่สามารถจะเลี้ยงตัวได้ ต้องจ่ายให้แก่คนยากจน หรือคนอนาถา ในเดือนรอมฎอน อันเป็นเดือนถือศีลอด โดยจ่ายเป็นอาหารหลัก ที่คนในท้องถิ่น กินกันเป็นประจำ ซึ่งได้แก่ข้าวสาร ประมาณ 3 ลิตร (หรืออาจให้เป็นเงิน ที่มีมูลค่าเท่ากับข้าวสาร จำนวนดังกล่าว) สำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้น จะต้องรับผิดชอบ การจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ.นี้ แทนสมาชิกในครอบครัวด้วย หากยังไม่ได้จ่ายซะกาตฟิตเราะฮ. อัลลอฮ.ก็จะยังไม่รับการถือศีลอดของเขา 

       ซะกาตมาล หรือ ซะกาตทรัพย์สิน เป็นซะกาตที่จ่ายจากทรัพย์สิน ที่สะสมไว้ หลังจากการใช้จ่ายครบรอบปีแล้ว ในอัตราที่ต่างกัน ตามประเภทของทรัพย์สิน ตั้งแต่ร้อยละ 2.5 ไปจนถึง 20 

 


5. การทำฮัจญ์

        การทำฮัจญ์ คือ การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ที่นครมักกะฮ.ในเดือนซุลฮิจญะฮ. ตามวันเวลาและสถานที่ ที่ถูกกำหนดไว้ หลักการข้อนี้ ถือเป็นหน้าที่สำหรับมุสลิม ทั้งชายหญิงทุกคน ที่มีความสามารถ ในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และเส้นทางการเดินทาง มีความปลอดภัย หากใครได้ศึกษา ถึงประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว จะพบว่าการทำฮัจญ์ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาเก่าแก่ ที่มีมาก่อนสมัยของศาสดามุฮัมมัด จากหลักฐานในคัมภีร์กุรอาน การทำฮัจญ์ เริ่มต้นขึ้น เมื่อตอนที่อัลลอฮ.ได้บัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีม และอิสมาอิล ผู้เป็นลูกชาย ร่วมกันสร้าง “บัยตุลลอฮ.” (บ้านของอัลลอฮ. ) ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสถานที่ สำหรับการเคารพภักดีต่อพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงบัญชา ให้ศาสดาอิบรอฮีม เรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติ ให้มาร่วมกันแสดงความจงรักภักดี ต่อพระองค์ ที่บ้านดังกล่าว

       ดังนั้น ในเดือนซุลฮิจญะฮ. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้าย ของปฏิทินอิสลาม มุสลิมทุกชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ จากทั่วโลก นับล้านคน จะเดินทางไปรวมกัน แสดงความเคารพภักดี ต่ออัลลอฮ.ที่บ้านของพระองค์

       หลังจากสมัยของท่านศาสดาอิบรอฮีมแล้ว ด้วยความโง่เขลา และความหลงผิดของผู้คน รูปแบบของการทำฮัจญ์ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น แทนที่ผู้คนจะเคารพบูชาอัลลอฮ. แต่เพียงพระองค์เดียว พวกเขากลับเอารูปปั้นเทวรูปต่าง ๆ ที่พวกเขาบูชา มาตั้งไว้รอบ ๆ ก๊ะอบ๊ะฮ. เพื่อสักการะบูชา ในระหว่างการทำฮัจญ์ และในพิธีการเดินรอบก๊ะอบ๊ะฮ.นั้น พวกเขาหลายคน ได้เปลือยกาย เดินรอบก๊ะอบ๊ะฮ.และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม ไม่ได้ทำแบบอย่างไว้ จนกระทั่งมาถึงสมัย ของท่านศาสดามุฮัมมัด หลังจากที่ท่านเข้ายึดมักก๊ะฮ.ได้แล้ว ท่านได้สั่งให้ทำลาย รูปปั้นบูชาต่าง ๆ รอบก๊ะอบ๊ะฮ.ลงจนหมดสิ้น และท่านได้แสดง แบบอย่างการทำฮัจญ์ ที่ถูกต้อง ให้บรรดาผู้ที่ศรัทธาในอัลลอฮฺ ปฏิบัติสืบทอดกันมา จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การทำฮัจญ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นฮัจญ์ที่มีแบบอย่าง มาจากท่านศาสดามุฮัมมัด

หากใครได้ศึกษา ถึงรายละเอียดของหลักการ และการปฏิบัติฮัจญ์ เขาจะทราบได้ทันทีว่า ฮัจญ์เป็นบทบัญญัติทางศาสนา ที่ถูกกำหนดให้มุสลิมถือปฏิบัติ เพื่อยืนยันถึงความศรัทธา ในอัลลอฮ. ที่ต้องอาศัยความเสียสละ ทั้งทรัพย์สินและเวลา ความอดทน ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ การให้อภัย และความสำนึก ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนความศรัทธามั่น ต่อพระผู้เป็นเจ้า ไปพร้อม ๆ กัน

การทำฮัจญ์ นอกจากจะเป็นการแสดง ความเคารพภักดี และยืนยันในความศรัทธา ต่ออัลลอฮ. แล้ว ยังสอนมนุษย์ทุกคน ให้รู้สำนึกว่า ในสายตาของอัลลอฮ. แล้ว มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะในการทำฮัจญ์ ผู้ทำฮัจญ์ทุกคน ไม่ว่าจะมาจากชนชั้น เผ่าพันธุ์ ภาษา หรือจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องห่อหุ้มร่างกาย ด้วยผ้าสีขาวเพียงสองชิ้น เหมือนกันหมดทุกคน จะต้องปฏิบัติพิธีการต่าง ๆ เหมือนกันหมด และทุกคน ต่างก็ประกาศความยิ่งใหญ่ ของอัลลอฮฺ เหมือนกันหมด

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด

 

 

 

 

      

 

       ตั้งแต่ต้น อาจกล่าวสรุปได้ว่า หลักศรัทธา 6 ประการนั้น เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับมุสลิมทุกคน ส่วนหลักปฏิบัติ 5 ประการ ที่

อิสลามกำหนดไว้ ให้มุสลิมปฏิบัตินั้น มิใช่เป็นหลักปฏิบัติทั้งหมด ในอิสลาม หากแต่มันเป็นเพียงวินัยบัญญัติ อย่างน้อยที่สุด ที่อิสลามกำหนดไว้ ให้มุสลิมปฏิบัติ เพื่อยืนยันถึงความศรัทธา ของเขา เท่านั้น อันที่จริงแล้วอิสลาม ยังมีบทบัญญัติอื่น ๆ ที่กำหนดให้มุสลิมปฏิบัติ อีกมากมาย ที่จะเป็นการแสดงออก ถึงความศรัทธา ในทุกย่างก้าวของชีวิต

bottom of page