
ISLAM
ศาสนาของพระเจ้า
(หลักแห่งความเชื่อ)

หลักศรัทธา 6 ประการ
1. ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว
คือ อัลลอฮฺ อิสลามถือว่า ในสากลจักรวาลทั้งหลายมี พระเจ้าที่เที่ยงแท้ เพียงองค์เดียว เป็นผู้สร้างสากลจักรวาลและ เป็นผู้บริหารควบคุม โลกนี้มิใช่เกิดมาด้วยความบังเอิญ ถ้าเกิดมาโดยบังเอิญ มันจะมีระบบระเบียบแบบแผน ในการโคจรไม่ได้ โลก ดวงอาทิตย์ และ ดวง จันทร์ ได้หมุนโคจรอย่างมีระบบ รักษาตำแหน่งหน้าที่ของมัน อย่างคงเส้น คงวา นับเป็นเวลานานไม่รู้กี่ล้านปี โดยที่มันไม่เคยชนกันเลย นี่ต้องแสดงว่ามีผูู้บริหาร และ ต้องมีผู้ควบคุมมัน
2. ศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮฺของพระองค์
มลาอิกะฮฺ คือ ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่าง พระผู้เป็นเจ้า กับ ศาสดา ทั้งหลาย เพื่อจะได้ให้ ศาสดาดังกล่าวได้รับ วิวรณ์จากอัลลอฮฺ มนุษย์เราแม้จะมีปัญญาสักปานใดก็ตาม ก็ต้องอาศัยสื่อภายนอกด้วยเหมือนกัน เช่น มนุษย์นั้น แม้จะมีสายตาดีสักเพียงใดก็ตาม เขาก็ไม่สามารถมองเห็นวัตถุใดๆ ได้เลย ถ้าหากไม่มีแสงสว่างเป็นสื่อ
คำว่า มลาอิกะฮฺ หาคำศัพท์แปลเป็นภาษาไทยไม่ได้ มลาอิกะฮฺ เป็นนามธรรม ไม่ใช่ เทวฑูต เทาวดา หรือ ฑูตสวรรค์ แต่ในศาสนาอิสลาม ถือว่า มลาอิกะฮฺ ไม่มีเพศ ไม่ขัดขืนคำสั่งของอัลลลอฮฺ ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่หลับ ไม่นอน มลาอิกะฮฺ คือ อำนาจแห่งความดี ส่วนอำนาจแห่งความชั่วนั้น คือ ชัยฎอน หรือ ซาตาน หรือ มาร นั่นเอง ดังนั้น มลาอิกะฮฺ จึงไม่ใช่ เทวดา และ นางฟ้า
3. ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ทั้งหลายของพระองค์
มุสลิม ต้องเชื่อถือ ต้นฉบับดั้งเดิมของ คัมภีร์ทั้งหลายทุกๆเล่มในอดีตรวมทั้งอัลกุรอานด้วย ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า คัมภีร์เหล่านั้นต้องเป็น วะหฺยู (ได้รับการดลใจ) มาจากอัลลอฮฺ และ ต้องมีเนื้อหาสาระตรงกับอัลกุรอาน มุสลิมต้องเชื่อถือ ในส่วนบริสุทธิของคัมภีร์เท่านั้น อิสลามถือว่า คัมภีร์ที่สมบูรณ์ที่สุด และ เป็นคัมภีร์สุดท้ายคือ อัลกุรอาน ซึ่งได้ถูกประกาศใช้ต่อมวลมนุษย์ชาติทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และ ความสันติสุข แก่มวลมนุษย์ทุกคน
4. ศรัทธาในบรรดานบี (ศาสดา) ทั้งหลาย
มุสลิมทุกคน ต้องยอมรับนับถือศาสดาทั้งหลายที่มาเทศนาก่อน นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่ว่าศาสดาเหล่านั้นจะปรากฎชื่ออยู่ใน คัมภีร์อัลกุรอานหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่า ศาสดาเหล่านั้น จะเป็นชนชาติใด อยู่ที่ไหน พูดภาษาอะไร ก็ตาม
มุสลิม ต้องให้เกียรติ ยกย่อง ศาสดาเหล่านั้น อย่างเท่าเทียมกันหมด นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นศาสดาสุดท้ายของโลก ที่มารับภารกิจต่อจาก ศาสดาก่อนๆ ที่เชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักพระเจ้า และ ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า หลังจากท่านแล้วจะไม่มีศาสดาเกิดขึ้นมาอีก เพราะถือว่า ท่านได้นำคำสอน หรือ แนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์มาสู่มนุษย์ชาติแล้ว
5. ศรัทธาในวันสุดท้ายและการเกิดใหม่ในวันปรโลก
อิสลาม ถือ ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นเพียงวัตถุธาตุชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องมีการแตกสลาย เหมือนๆกับวัตถุหรือสิ่งอื่นๆ แน่นอนโลกของเรา ต้องถึงจุดจบไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อโลกแตกสลายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดับสิ้น เว้นแต่ อัลลอฮฺเท่านั้น ที่ยังดำรงอยู่ และมนุษย์ทั้งหลาย ก็จะไปฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้งในโลกหน้า แต่จะไปเกิดในสภาพใดนั้นไม่มีมนุษย์ผู้ใดรู้ได้
การฟื้นขึ้นใหม่อีกในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้มนุษย์รับผลตอบแทนตามที่เขาได้กระทำไว เมื่อครั้งที่เขา ยังมีชีวิตอยู่ ผลงานของเขาในโลกนี้ จะเป็นตัวกำหนด ว่า เขาจะเป็นผู้ได้รับ สวรรค์ หรือ นรก ไม่มีใคร ช่วยใครได้ ไม่มีการกลับชาติมาเกิด
ถ้าเราไม่เชื่อในเรื่องการฟื้นขึ้นใหม่แล้ว สังคมของเราก็จะสับสนปั่นป่วนวุ่นวาย หาความสงบสุขไม่ได้ ดังเช่น พวก อาหรับ ในยุค ญาฮิลียะฮฺ (ยุคแห่งอวิชาและป่าเถื่อน) ซึ่งเชื่อว่าเมื่อพวกเขาเกิดมาแล้วก็ตายไป คือตายแล้วศูนย์ เหมือนดังสัตว์อื่นๆ ความดี ความชั่ว ที่เขาได้กระทำมานั้น ไม่มีการตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ดังนั้น พวกเขาจึงใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ไปในทางชั่วช้าทุกรูปแบบ จนสร้างความเสียหายปั่นป่วนให้แก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง
6.ศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะของพระองค์
ต้องศรัทธา ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาลนี้ล้วนเกิดขึ้นมา และ ดำเนินไป ตามกฎเกณฑ์ของอัลลอฮฺ ทั้งสิ้น เช่น ไฟ มีคุณสมบัติ ร้อน น้ำไหลจากที่สูง ลงสู่ที่ต่ำ แพะ แกะ วัว ควาย สุนัข ออกลูกเป็นตัว นก เป็ด ไก่ ออกลูกเป็นไข่ ต้นมะม่วงต้องออกลูกเป็นมะม่วง ต้นกล้วยจะออกลูกเป็น ต้น แอปเปิลไม่ได ทุกๆชีวิตต้องตาย นี่คือ กฎกำหนดสภาวะของอัลลอฮฺ
หมายความว่า กฎ ธรรมชาติทั้งหลายนั้น อัลลอฮฺ เป็น ผู้ทรงสร้าง และ ควบคุม มัน ส่วนการกำหนด สภาวะในหลัก จริยธรรม ความดี ความชั่ว นั้น พระองค์จะเป็นผู้บอก เราเองว่า อะไรคือ ดี และอะไรคือ ชั่ว แต่สิ่งที่ใช้วัดความดีความชั่วนั้น ในอิสลาม ถือ ว่ามันไม่ได้มาจาก มติบุคคล หรือ มติของ มหาชน มิได้อาศัย ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ ความนิยม หรือสิ่งแวดล้อม เป็น เครื่อง กำหนด เพราะถ้ามนุษย์เป็น ผู้กำหนดความดี ความชั่วแล้ว มาตรฐานความดีของมนุษย์ก็จะ แตกต่างกัน
การที่มนุษย์ ได้กระทำความดี ความชั่วนั้น อัลลอฮฺ ไม่ได้เป็นผู้ลิขิต ชะตาชีวิตของเขา ไว้ล่วงหน้ามาก่อน สิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับการกระทำ หรือ การตัดสินใจของมนุษย์เอง เพราะอัลลอฮฺ ได้ให้ความคิด อิสระเสรี แก่เขา ในการที่เขาจะเลือกทางเดินของเขาเอง
ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆที่ สับสน วุ่นวาย อยู่ในบ้านเมือง หรือ สังคมนั้น มันเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองทั้งสิ้น มิใช่เกิดขึ้นจาก การกำหนด หรือ การ ลิขิต ของ พระผู้เป็นเจ้า ความจน ความ รวย ความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ยาก ความขมขื่น ที่เกิดแก่มนุษย์นั้น ก็เนื่องมาจากผู้ปกครอง ขาดความรับผิดชอบนั่นเอง การที่อัลลอฮฺไม่ได้ เป็นผู้ขีดชะตากรรมของผู้ใดไว้ล่วงหน้า มานั้นก็เพื่อที่จะให้มนุษย์ได้มีความรับผิดชอบในการงานของตนเองที่ได้กระทำไว้